15 เมษายน 2010 ผู้ชม: 18318
![]() |
phpMyAdmin เป็นเครื่องมือที่จำเป็นมากสำหรับการเข้าถึงฐานข้อมูล MySQL เพราะ Joomla นั้นจำเป็นต้องมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง บันทึกลงฐานข้อมูล ซึ่งถ้าหากเราต้องการที่จะสำรองฐานข้อมูล หรือกู้คืนฐานข้อมูล เครื่องมือนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เราได้มาก
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับฐานข้อมูลที่เราต้องใช้งานกันก่อน ฐานข้อมูลนั้นจะเก็บบันทึกข้อความ เนื้อหา ที่เราได้ทำการบันทึกไว้ในรูปแบบของ Text ล้วน ๆ การที่เราได้เห็นเว็บของเรานั้น มีสีสัน มีลิ้งค์ มีรูปภาพ ก็เกิดจากการนำสิ่งที่ถูกบันทึกอยู่ในฐานข้อมูล ไปประมวลผลผ่านโปรแกรม ไม่ว่าจะผ่านทาง Desktop Application หรือ Web Application ก็ตาม จึงออกมาเป็นรูปแบบต่าง ๆ ให้เราได้เห็นแบบสวยงามกัน แต่สำหรับการมองเข้าไปยังฐานข้อมูลโดยตรงนั้น สิ่งเหล่านี้จะไม่ปรากฏให้เราเห็นเลย เราจะเห็นแต่ชุดตัวอักษร ผสมตัวเลขปนเปกันไปหมด
ฐานข้อมูล 1 ฐานข้อมูล จะประกอบไปด้วยตารางต่าง ๆ (Table) เพื่อเก็บข้อมูลที่จำเป็นต่อการใช้งาน แยกออกจากกัน ถ้าฐานข้อมูลเปรียบเสมือนสมุด 1 เล่ม ตารางก็จะเปรียบเสมือนหน้าของสมุดแต่ละหน้า , หากเราต้องการข้อมูลเกี่ยวกับตารางใด ก็ไปเปิดอ่านสมุดหน้านั้น
ภายในตาราง ก็จะเก็บข้อมูลเรียงกันเป็นแถว ๆ (Record) เหมือนกับสมุดที่จดบันทึกลงแต่ละบรรทัด โดยแต่ละบรรทัดเราอาจจะบันทึกข้อมูลที่แตกต่างกัน เช่น บรรทัดที่ 1 เขียนชื่อ , บรรทัดที่ 2 เขียนนามสกุล , บรรทัดที่ 3 เขียนที่อยู่ , บรรทัดที่ 4 เขียนเบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น แต่ละบรรทัดเหล่านี้ จะถูกเรียกว่าฟิลด์ (Field)
จะเห็นว่า Joomla นั้น มีการสร้างตารางไว้หลายตารางเลย เช่น ตาราง jos_banner ก็จะเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับ banner , jos_content ก็จะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับบทความ เนื้อหา เป็นต้น จุดที่สังเกตก็คือ จะมีคำว่า jos_ นำหน้าทุกตาราง สิ่งที่นำหน้าชื่อตารางเหล่านี้ จะเรียกว่า คำนำหน้า หรือ Prefix เป็นเทคนิคหนึ่งที่เราสามารถสร้างตารางที่ต้องการชื่อตารางให้สอดคล้องกับการใช้งาน แต่อาจจะไม่สามารถตั้งชื่อตารางให้เหมือนกันได้ จึงต้องมี Prefix มาเป็นส่วนร่วม เพื่อให้ถูกมองว่า ตารางนั้นเป็นคนละชื่อกัน ในระบบ Joomla สามารถเปลี่ยน Prefix ได้ตามต้องการ ยกเว้นคำวา bak_ ครับ เพราะจะถูกจองไว้สำหรับการทำ Backup ด้วยระบบของ Joomla
การสร้างฐานข้อมูล ปกติแล้วถ้าหากเราใช้บริการผ่านผู้ให้บริการต่าง ๆ มักจะไม่อนุญาตให้สร้างฐานข้อมูลผ่าน phpMyAdmin แต่จะให้สร้างผ่าน Panel แทน
คงไม่อาจสอนการใช้งานได้หมด เพราะ Panel ของแต่ละที่ก็จะมียี่ห้อต่างกันออกไป ซึ่งเมนูการใช้งานก็จะมีการปรับเปลี่ยน โยกย้ายไม่เหมือนกัน หน้าตาก็ไม่เหมือนกัน แต่ลักษณะการใช้งานก็ยังคงเหมือนกันอยู่ คือมีเมนูให้กด คลิก คลิก แค่นั้นเองครับ ซึ่งผู้ให้บริการบางราย ก็กำหนดให้เราต้องสร้างฐานข้อมูลผ่าน Panel ที่กำหนดไว้ หรือบางรายก็อาจให้สร้างฐานข้อมูลผ่าน phpMyAdmin ก็ได้ครับ
กลับมาที่ phpMyAdmin ครับ เมนูที่ใช้งานกันบ่อย ๆ ก็คงมีไม่กี่เมนู ผมจะแนะนำหลัก ๆ อยู่ 3 เมนูครับ เริ่มด้วยการสำรองฐานข้อมูล (Backup) ให้เลือกที่เมนู Export ครับ
A. เลือกตารางที่ต้องการจะ Backup
B. เลือกการ Export เป็นแบบ SQL
C. เลือก Add DROP TABLE , จะเลือกหรือไม่ก็ได้ แต่จะมีผลตอนที่เราทำการ Import ตารางเข้ามา ถ้าหากมีชื่อตารางที่ซ้ำกับตารางที่มีอยู่แล้ว Add DROP TABLE จะเข้ามาช่วยลบตารางเก่าที่มีชื่อซ้ำกันให้อัตโนมัติ
D. เลือก Save as file หากฐานข้อมูลมีขนาดใหญ่ สามารถเลือกการบีบอัดไฟล์เพิ่มเติมได้
E. พร้อมแล้วก็ Go จะได้ไฟล์ที่มีนามสกุล .sql มา นั่นแหล่ะครับฐานข้อมูลของเรา เก็บไว้ให้ดีล่ะ
การนำเข้าฐานข้อมูล (Import) มีไม่เยอะครับ ตามภาพ
A. เลือกไฟล์ .sql ที่ได้จากการ Export ออกไป
B. แล้วก็ Go , จบ.
การกระชับฐานข้อมูล เมื่อใช้งานฐานข้อมูลไปนาน ๆ ก็จะทำให้เกิดฐานข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ เหตุผลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ไม่ใช่ว่าการบันทึกข้อมูลที่มากขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะมีส่วนเกินของฐานข้อมูลที่เราไม่ได้ใช้งาน พูดถึงการสร้างฐานข้อมูลแล้ว จะต้องมีการของพื้นที่ไว้ ว่าต้องการพื้นที่แบบใด ซึ่งแต่ละแบก็จะมีขนาดการจองต่างกันออกไป เช่น เราจองพื้นที่แบบเล็กสุด ขนาด 8 ที่นั่งไว้ แต่เมื่อใช้งานจริง เพื่อนเรามาไม่ครบ นั่งไปแค่ 4 ที่ จะเห็นว่าเหลือที่ว่างอีก 4 ที่โดยเปล่าประโยชน์ ทำให้ที่นั่งถูกขยายออกไป คนอื่นจะมานั่งก็ไม่ได้ ดังนั้น เราก็มากระชับกันไว้เถิด นั่งใกล้ ๆ กัน , ในมุมมองของฐานข้อมูล ก็จะเห็นได้แบบนี้
จะเห็นว่าแต่ละฟิลด์ จะถูกจองพื้นที่ไว้ต่างกัน เช่น username ถูกจองความยาวไว้ 150 หรือ session_id ถูกจองความยาวไว้ 200 แล้วถ้าหาก username ของเราตั้งชื่อไว้แค่ 10 ตัวอักษรล่ะครับ อีก 140 ก็จะไม่ได้ถูกใช้งาน ทำให้ส่วนนี้คือพื้นที่ส่วนเกินที่ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นหน้าที่เราคือต้องตัดพื้นที่ส่วนนี้ทิ้ง เพื่อทำให้เหลือเพียงพื้นที่ ที่เราจำเป็นใช้งานจริง ๆ เท่านั้น ให้เลือกฐานข้อมูลที่ต้องการกระชับเลยครับ แล้วเลื่อนลงมาด้านล่าง เพื่อเลือกทุกตารางในฐานข้อมูลนั้น
แล้วเลือกเมนู Optimize table
เสร็จแล้วครับ ไปดูผล
จ๊าก เห็นไหม ลดลงตั้งเยอะ เบาสบาย กระชับ ฉับไว
เพียงเท่านี้ เราก็พอจะเข้ามาซนกับฐานข้อมูลของเราเอง ผ่านเครื่องมือที่ชื่อว่า phpMyAdmin กันได้แล้วนะครับ ไม่ต้องกลัวว่ามันจะหายไปไหนครับ ถ้าเราไม่กดปุ่ม หรือเลือกคำสั่งอะไรที่มันมีคำว่า delete หรือ drop ซะก่อน
← Joomla Basic Users | Install Joomla → |
---|